หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ
หนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะพืชวงศ์มะเขือ เช่น มะเขือเทศ มะเขือ มันฝรั่ง พริก ยาสูบ รวมทั้งวงศ์ถั่ว และกะหล่ำ โดยการกัดกินชอนไชใบ ลำต้น และผล ทำให้ผลผลิตลดลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดอย่างรวดเร็ว และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในแหล่งปลูกมะเขือเทศหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้และทวีปยุโรป รวมทั้งเริ่มพบการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศในทวีปเอเชียแล้ว ทำให้กรมวิชาการเกษตรในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ ต้องเฝ้าระวังป้องกันการแพร่กระจายและลดการเข้าทำลายพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยสั่งการให้ด่านตรวจพืชกรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวังและตรวจสอบผลผลิตเกษตร เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่แมลงชนิดนี้จะเล็ดลอดติดเข้ามากับผลผลิตและแพร่ระบาดภายในประเทศไทยได้ รวมทั้งมะเขือเทศยังเป็นพืชในวงศ์ Solanaceae ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่อนุญาตให้นำติดตัวเข้ามาภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมพร้อมรับมือหากมีการแพร่ระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเข้ามาภายในประเทศ โดยมีคำแนะนำวิธีป้องกันและกำจัดทางวิชาการ ดังนี้ โรงเรือนผลิตกล้ามะเขือเทศ ใช้วัสดุปลูกที่ปราศจากดักแด้ของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ และตรวจหาการทำลายโดยสำรวจร่องรอยการทำลายบนใบและยอดมะเขือเทศ ติดตั้งกับดักฟีโรโมนเพื่อดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้ หากตรวจพบผีเสื้อหรือการทำลายของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ ให้ป้องกันกำจัดโดยการใช้สารกำจัดแมลงตามคำแนะนำ คือ สารสไปนีโทแรม 12% SC สารอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC สารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC สารลูเฟนนูรอน 5% EC สารอินดอกซาคาร์บ 15% EC สารคลอแรนทรานิลิโพรล ทำความสะอาดโรงเรือน และเก็บเศษซากพืชที่ถูกทำลายเผาหรือฝังในดิน ส่วนในแปลงปลูกมะเขือเทศ ให้สำรวจประชากรของผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศด้วยกับดักฟีโรโมนก่อนปลูก 2 สัปดาห์ ก่อนปลูกให้ไถพลิกดินหรือไถพรวนเพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน ใช้ต้นกล้าที่ปราศจากหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศ หลังปลูกหากพบการทำลายให้ติดกับดักฟีโรโมนดักจับตัวเต็มวัยเพศผู้เพื่อลดประชากรผีเสื้อหนอนชอนใบมะเขือเทศ และพ่นสารกำจัดแมลงชนิดเดียวกับที่แนะนำให้ใช้ในโรงเรือน พ่นทุก 5-7 วัน ติดต่อกัน 2-3 ครั้ง โดยใช้กลุ่มสารสลับกันอย่างน้อย 2 กลุ่ม ใน 1 รอบวงจรชีวิต (30 วัน) รวมทั้งเว้นระยะไม่ใช้สารกลุ่มเดิมในรอบวงจรชีวิตถัดไป
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร